วัคซีนและน้ำยาทดสอบสำหรับโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่น
ศ.เกียรติคุณ พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
หลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือในการผลิต ตรวจสอบมาตรฐาน ขึ้นทะเบียน และจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ บริษัท โรงงานเภสัชกรรม เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 และได้ทำข้อตกลงที่จะดำเนินการผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้ไรฝุ่นเป็นอย่างแรก
ขณะนี้ โรงงานผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นโรงงานแรกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ของประเทศไทย ได้สร้างเสร็จแล้ว และได้รับอนุมัติจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ผลิตวัคซีนไรฝุ่น 3 กลุ่มแรกเพื่อรับการขึ้นทะเบียน โดยวัคซีนไรฝุ่นกลุ่มแรกกำลังดำเนินการผลิตภายในโรงงานเภสัชกรรมเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่าแห่งนี้
จึงคาดได้ว่าภายในปีนี้ วัคซีนไรฝุ่นทั้งสองสายพันธุ์ คือ Dematsphagoides pteronyssinus (Dp) และ Dematsphagoides farinac (Df) จะได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายจาก อย.
ขณะเดียวกัน เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า ก็ได้ดำเนินการขออนุญาตจำหน่ายชุดทดสอบภูมิแพ้จาก อย. เนื่องจากก่อนที่จะมีการใช้วัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ จำเป็นต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังของผู้ป่วยก่อน เพื่อนำผลการทดสอบนั้นมายืนยันว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้นๆ จริง ซึ่งเกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายชุดทดสอบภูมิแพ้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงมีการวางแผนที่จะผลิตชุดทดสอบ (diagnostic kit) ออกมาจำหน่ายก่อน โดยระยะแรกจะผลิตชุดทดสอบที่ประกอบด้วยน้ำยาสกัดสารก่อภูมิแพ้ที่จำเป็น 8 ชนิด คือ
1. น้ำยาทดสอบการแพ้ไรฝุ่น ชนิด Dp (Dematsphagoides pteronyssinus)
2. น้ำยาทดสอบการแพ้ไรฝุ่น ชนิด Df (Dematsphagoides farinac)
3. น้ำยาทดสอบจากขนแมว
4. น้ำยาทดสอบจากขนสุนัข
5. น้ำยาทดสอบจากแมลงสาบ
6. น้ำยาทดสอบจากหญ้า (Burmuda Grass)
7. น้ำยาทดสอบจากผักโขม (Careless Weed)
8. น้ำยาทดสอบจากเชื้อรา (Cladosporium spp.)
ทั้งนี้ การทดสอบภูมิแพ้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณของสารภูมิต้านทานจำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด (Serum specific Ig E), การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และการตรวจบริเวณตำแหน่งที่เป็นโรคโดยตรง เช่น ถ้าเป็นโรคแพ้อากาศ ก็ตรวจที่จมูก โดยการทำ nasal provocation test แต่วิธีที่ถือว่ามีความไวและแม่นยำสูง ทำได้ไม่ยากและราคาไม่แพงมากคือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งทั่วโลกแนะนำให้ใช้เป็น diagnostic test ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมี 3 ประการ คือ
1. ยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้จริงหรือไม่
2. แพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง
3. แพ้มากหรือน้อยเพียงใด
ซึ่งผลการทดสอบจะเป็นแนวทางให้แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการกำจัดหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้ได้อย่างถูกต้อง และหากมีข้อบ่งชี้ก็สามารถให้การรักษาโดยการฉีดวัคซีนต่อไปได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (เป็นโรคเดียวกัน) และโรคหืดภูมิแพ้ จึงสมควรได้รับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังทุกราย ซึ่งจากสถิติความชุกของโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจในประเทศไทยที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 ของประชากร 20 ล้านคน และโรคหืดภูมิแพ้อีกประมาณ 4 ล้านคน ดังนั้น หากหวังให้มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง และเพียงร้อยละ 1 ได้รับการฉีดรักษาโรคภูมิแพ้แล้ว ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้เป็นมูลค่าที่สูงมาก เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากเราสามารถผลิตได้เอง ไม่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายย่อมจะถูกลง ส่วนในด้านคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อีกเป็นจำนวนมากจะสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาตามมาตรฐานได้ นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังส่งผลทางอ้อมให้ผลผลิต (Productivity) โดยรวมของชาติเพิ่มขึ้นด้วย
|